มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และโปรดให้เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ ต่อมาวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” โดยมีพระราชประสงค์ให้ใช้ “เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นวิทยาเขตแห่งที่ ๓ ที่จัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค และเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ โดย ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดยความร่วมมือกับคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๒๕ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือมอบหมายให้ พระศรีธรรมนิเทศก์เป็นผู้พิจารณาดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ล้านนาในนามคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ตามวัตถุประสงค์ ส่วนสถานที่จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์นั้น ณ วัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๒๗ พระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ (ประธานกรรมการดำเนินงานแทนพระศรีธรรมนิเทศก์) พร้อมด้วย ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส ไปชี้แจงในที่ประชุม สภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ล้านนา ๑๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ เริ่มเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต ปฐมหลักสูตรที่เปิดก็คือ สาขาวิชาศาสนา สำหรับวิชาสามัญอื่นๆ ในหลักสูตรได้เชิญอาจารย์จากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาร่วมถวายความรู้ พ.ศ.๒๕๒๕ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือมอบหมายให้ พระศรีธรรมนิเทศก์เป็นผู้พิจารณาดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ล้านนาในนามคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ตามวัตถุประสงค์ ส่วนสถานที่จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์นั้น ณ วัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขึ้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก ลงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล กำหนดสถานภาพและวัตถุประสงค์ (ตามมาตรา ๖) ไว้ “ให้เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” การดำเนินงานของวิทยาเขตเชียงใหม่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ ผลิตบัณฑิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับ ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้สมัยใหม่ร่วมกับการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นล้านนา